ยุคสมัยประวัติศาสตร์ของทัศนศิลป์ไทย
ยุคสมัยประวัติศาสตร์ของทัศนศิลป์ไทย
การศึกษาประวัติศาสตร์ทัศนศิลป์ของยุคสมัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ทำให้นักเรียนเข้าใจประวัติความเป็นมา แนวคิด วิถีชีวิต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ๆ ที่ส่งผลสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์
๑. ยุคหิน อายุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ – ๔,๕๐๐ ปี ในสมัยนี้มนุษย์เริ่มนำหินมากะเทาะเพื่อให้มีเหลี่ยมคมจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง
๑.๑ สมัยหินเก่า อายุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ปี ในพื้นที่ประเทศไทยปรากฎเครื่องมือหินที่เรียกว่า “เครื่องมือสับตัด” (Chopper – Chopping tools) นำไปใช้งานโดยการสับ ตัด ขุด ทุบ เป็นต้น ส่วนสะเก็ดของหินที่ถูกกะเทาะออกมา มีการนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือหินใช้ในการตัดฟันเฉือน เรียกว่า “เครื่องมือสะเก็ดหิน” (Flake tools)
๑.๒ สมัยหินกลาง อายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปี การผลิตเครื่องมือหินได้พัฒนาขึ้น มีการคัดเลือกประเภทของหินที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ และพัฒนาเทคนิคการกะเทาะให้ดียิ่งขึ้น สามารถกะเทาะหินให้มีรูปร่างเหมาะสมแก่การใช้งาน มีความละเอียด และขนาดที่เล็กลง เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น เช่น เจาะ ขูด เป็นต้น เรียกว่า “เครื่องมือหินแบบหัวบิเนียน” (Hoabinhian tool)
๑.๓ สมัยหินใหม่ อายุประมาณ ๖,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี มีการนำเครื่องมือหินมาขัดให้ผิวเรียบ เพื่อให้เกิดมีความแข็งแรงมากขึ้น และสะดวกต่อการใช้งานในการตัดต้นไม้ และทำเกษตรกรรมให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า “เครื่องมือหินขัด”
สรุป ในยุคหินมีการค้นพบหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในยุคหิน การออกแบบผลงานขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และเพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำเครื่องมือเครื่องใช้โดยใช้กระดูกสัตว์
๒. ยุคโลหะ อายุประมาณ ๓,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปี มีการนำโลหะสำริด ทองคำ และเหล็กมาหล่อและตีขึ้นรูป เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้เท่าหรือดีกว่ามนุษย์ยุคเดียวกันในส่วนอื่นของโลก ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ สมัย
๒.๑ สมัยสำริด ยุคสมัยที่มีการนำโลหะผสม โดยมีทองแดงและดีบุกเป็นส่วนผสมหลัก โดยในพื้นที่ประเทศไทยพบร่องรอยการถลุง และผลิตเครื่องมือ เครื่องประดับสำริด กำหนดอายุได้ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตสำริด เช่น เบ้าหลอมดินเผา ขวานสำริด กระพรวนสำริด กำไลสำริด
๒.๒ สมัยเหล็ก อายุประมาณ ๒,๕๐๐ – ๑,๕๐๐ ปี การผลิตโลหะมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก จากเดิมที่สามารถถลุงได้เฉพาะสำริด ได้พัฒนาวิทยาการให้สามารถถลุงโลหะได้ดียิ่งขึ้นจนสามารถถลุงโลหะเหล็กได้ หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตเหล็ก เช่น ขวานเหล็ก ใบหอกเหล็ก กำไลเหล็ก เป็นต้น
สรุป ในยุคโลหะมนุษย์รู้จักการหล่อหลอมโลหะเอามาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้สำริดและดินเผาเป็นจำนวนมาก มนุษย์ยุคนี้มีการตกแต่งลวดลายและมีความประณีตในการสร้างผลงานมากยิ่งขึ้น
ยุคสมัยประวัติศาสตร์
๑. สมัยทวารวดี
อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม ของประเทศไทย ศิลปะสมัยทวารวดี เป็นศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะคุปตะของอินเดีย ต่อมาจึงพัฒนาเป็นรูปแบบของตนเอง ศิลปะที่พบในสมัยทวารวดี ได้แก่ งานประติมากรรมสลักด้วยหิน ธรรมจักรศิลาและกวางงหมอบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงปฐมเทศนา (เผยแพร่พุทธศาสนา) อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ พระนาสิกไม่โด่ง พระโอษฐ์หนา พระขนงติดกันเป็นปีกกา ขมวดพระเกศาใหญ่ จีวรเรียบติดพระวรกาย เป็นต้น
พระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์ ศิลปะทวารวดี พบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
๒. สมัยศรีวิชัย
อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ ศิลปะสมัยศรีวิชัยได้แพร่เข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาฮินดูสันนิษฐานว่าอาณาจักรศรีวิชัยมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยไปจนถึงเกาะสุมาตราและเกาะชวา ประติมากรรมที่พบส่วนมากเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งจะทรงอาภรณ์และเครื่องประดับอย่างกษัตริย์ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และมีรูปหล่อสำริด หลักศิลารูปพระพุทธรูปและเทวรูป สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงได้แก่พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีองค์เจดีย์เป็นแปดเหลี่ยม มีมุมย่อ และมีเจดีย์ประจำทิศตั้งซ้อนอยู่
๓. สมัยลพบุรี
อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ อาณาจักรลพบุรี หรือละโว้ มีอาณาเขตบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ศิลปะสมัยนี้เป็นศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะขอม สร้างตามความเชื่อของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ประติมากรรมมักสร้างขึ้นจากโลหะและการสลักหิน พระพุทธรูปจะมีลักษณะพระพักตร์สั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระโอษฐ์แบะกว้าง พระกรรณยาวประดับด้วยกุณฑล ส่วนสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในยุคนี้คือปราสาทหิน เช่น ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
๔. เชียงแสน หรือล้านนา
อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๓ สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ศิลปะสมัยนี้ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ศิลปะส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรพุกามของพม่า ประติมากรรมที่ปรากฏ ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) พระพุทธรูปสมัยล้านนาจะมีลักษณะพระวรกายอวบอูม พระพักต์อิ่ม ยิ้มสำรวม พระศกเป็นแบบก้นหอย พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้มเล็กน้อย พระอุระนูนดั่งราชสีห์ ท่านั่งขัดสมาธิเพชร สถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่พบ เช่น เจดีย์วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน เจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย
๕. สมัยสุโขทัย
อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ เป็นศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะปาละของลังกา โดยได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ศิลปะสมัยนี้ได้รับการยกย่องว่ามีรูปแบบที่งดงาม นิยมหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะผสมสำริด พระพุทธรูปจะมีความชดช้อย งดงาม พุทธลักษณะจะมีพระวรกายโปร่ง พระเกศมีรัศมีเป็นเปลว พระโอษฐ์ยิ้ม พระศกแบบก้นหอย พระพุทธรูปที่โดดเด่นในสมัยนี้ คือ พระพุทธชินราช และสมัยนี้ยังมี เครื่องสังคโลก ซึ่งมีลวดลายที่สวยงามมีชื่อเสียง สถาปัตยกรรมที่เป็นรูปแบบสุโขทัย ได้แก่ สถูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม เจดีย์แบบลังกา ซึ่งมีรูปทรงกลม ส่วนล่างขององค์ระฆังมักมีลายกลีบบัว ด้านงานจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนลายเส้นและภาพเขียนสีฝุ่น ซึ่งเป็นภาพประกอบเรื่องราวทางศาสนา
๖. สมัยอยุธยา
อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๓ มีช่วงระยะเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี (พ.ศ.๑๘๙๓-พ.ศ.๒๓๑๐) ศิลปะในสมัยนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยสุโขทัย และพัฒนาเป็นศิลปะแบบอยุธยา ศิลปะอยุธยาที่เจริญรุ่งเรืองมีหลายแขนง ได้แก่ การประดับมุก การเขียนลายรดน้ำ ลวดลายปูนปั้น การแกะสลักไม้ เครื่องปั้นดินเผาเบญจรงค์ ในระยะแรกศิลปะการสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยามีการผสมผสานศิลปะทวารวดีกับลพบุรี เรียกว่า ศิลปะแบบอู่ทอง ในตอนหลังนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบกษัตริย์ที่เรียกว่า "ทรงเครื่องใหญ่" เช่น มงกุฎ ทับทรวง เป็นต้น
ด้านสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในช่วงแรก คือ พระปรางค์และเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะตามแบบลพบุรีและสุโขทัย ส่วนพระราชวัง พระตำหนักต่าง ๆ นั้น ได้รับอิทธิพลจากขอม เช่น เจดีย์และอุโบสถที่วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ด้านจิตรกรรม มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับศิลปะยุคอื่น ๆ การสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับชาดกและพุทธประวัติ โดยสีที่ใช้จะเป็นสีเอกรงค์ หรือใช้เพียงไม่กี่สี เช่น เหลือง แดง ดำ ในสมัยอยุธยามีการพัฒนาศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น การประดับมุก การเขียนลายรดน้ำ การแกะสลัก เครื่องปั้นดินเผาลายเบญจรงค์
๗. สมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๕ มาจนถึงปัจจุบัน ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการสืบทอดมาจากสกุลช่างอยุธยาในงานจิตรกรรม ประติมากรรม การสร้างพระพุทธรูป ลวดลายปูนปั้น งานแกะสลักไม้ งานประณีตศิลป์ เครื่องเงิน เครื่องทอง และลายรดน้ำ
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ มีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากขึ้น ทำให้ลักษณะศิลปะตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยและมีอิทธิพลต่อศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัดวาอาราม อาคาร สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีการผสมผสานศิลปะของไทยกับตะวันตก เป็นศิลปะไทยแบบร่วมสมัย ส่วนลักษณะของพระพุทธรูปมีการศึกษาหลักกายวิภาคเข้าไปผสมผสาน
งานจิตรกรรมสมัยนี้ มีรูปแบบการเขียนตามแบบประเพณีและแบบร่วมสมัย ทำให้งานจิตรกรรมมีความเป็นสากลมากขึ้น
งานประติมากรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ เกิดการสร้างศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยมากขึ้น
สถาปัตยกรรม เป็นการสืบทอดแบบอยุธยาตอนปลายและวิวัฒนาการตามลำดับ มีการปรับตัวตามกระแสตะวันตกเข้ามาผสมผสาน หรือรับแบบอย่างสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรมไทย สังเกตได้ชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
คำถาม (รูปแบบจำ สอบปากเปล่ารายบุคคล)
๑. สมัยประวัติศาสตร์ไทยมีกี่ยุคสมัย ประกอบด้วยสมัยอะไรบ้าง และยกตัวอย่างจุดเด่น หรือจุดสำคัญในแต่ละสมัย
๒. ให้นักเรียนยกยุคสมัยที่ตนเองสนใจ มา ๑ สมัย พร้อมบอกเล่าเนื้อหาในสมัยนั้น ๆ
(กำลังอัปเดตข้อมูล 27/02/2567)
บรรณานุกรม
การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือ https://www.finearts.go.th/promotion/view/45008-
ยุคโลหะ
https://th.wikipedia.org/wiki/ยุคโลหะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น