ศิลปนิพนธ์ คืออะไร

     
         สำหรับนิสิตหรือนักศึกษาที่เรียนสายศิลป์ ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คงจะกุมขมับกันบ้างแหล่ะ นั่นคือผลงานจบที่เรียกว่า "ศิลปนิพนธ์"  วันนี้ผมจะมาพูดถึงศิลปนิพนธ์ในมุมมองของผมกัน

     ศิลปนิพนธ์ หรือ Art Thesis ในนิยามของผม คือ การสร้างสรรค์งานศิลปะเฉพาะสาขา ซึ่งเป็นการประมวลรวบข้อมูลความรู้ที่ได้เรียนมาตลอดปีการศึกษา มาสังเคราะห์และสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล เป็นการแสดงความคิด ความสามารถในการสร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาต่อยอดงานต่อไป

      คำว่าศิลปนิพนธ์ บางสถาบันเรียกว่า วิทยานิพนธ์ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน คำว่าวิทยานิพนธ์เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก บ้างจะกล่าวว่า วิทยานิพนธ์ใช้เรียกสำหรับผู้ที่ศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอก เท่านั้น ผมจึงขอหยิบยกบทความของ น.อ.หญิง กนกพรรณ รัตนกรี ที่ได้รวบรวมการใช้คำภาษาไทยดังนี้ 
 
          วิทยานิพนธ์ และปริญญานิพนธ์ หมายถึง ผลงานทางวิชาการที่นําเสนออย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานจากการค้นคว้าและวิจัย เป็นข้อกําหนดอย่างหนึ่งในการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รูปแบบของวิทยานิพนธ์เป็นไปตามข้อกําหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า thesis

            ภาคนิพนธ์ และสารนิพนธ์ กล่าวโดยรวมหมายถึง งานที่ต้องศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์วิจารณ์ เพิ่มเติม โดยการใช้หลักและทฤษฎีศึกษา รวมถึงการเขียนในบริบทต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาในวิชานั้น ๆ แล้ว สรุปผลเรียบเรียงเป็นรายงานในวิชาที่เรียนประจําภาคนั้น ตรงกับภาษาอังกฤษว่า term paper.  

             ภาคนิพนธ์ เป็นคําเรียกรายงานผลการศึกษาค้นคว้าในวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่งของนักศึกษา ระดับอุดมศึกษาที่เขียนเป็นรายงานทางวิชาการ เพื่อฝึกฝนความสามารถในการศึกษาด้วยตนเอง โดยมีอาจารย์ ผู้สอนวิชานั้นเป็นที่ปรึกษา ทําให้มีความสามารถในการเขียนงานวิชาการ. 
             ภาคนิพนธ์ มักใช้เป็นส่วนประกอบ ในการวัดผลร่วมกับการสอบข้อเขียน และการสอบปากเปล่า. ภาคนิพนธ์ทําให้ผู้สอนประเมินผู้เรียนได้ว่า มีความสามารถในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองต่อไปได้หรือไม่และผู้เรียนมีความสามารถในการประมวล ความรู้วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล เนื้อหา รวมทั้งมีความสามารถในการเขียนบรรยายมากน้อยเพียงใดด้วย 

             สารนิพนธ์ เป็นคําเรียกรายงานผลการศึกษาค้นคว้าในสาขาวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่งของ นักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท เพื่อฝึกฝนให้มีความสามารถในการศึกษาด้วยตนเอง โดยมีอาจารย์ ผู้สอนเป็นที่ปรึกษา. วิชาที่เรียนเรียกว่า Individual Study ในภาษาไทยใช้ว่า การศึกษาเฉพาะบุคคล หรือ การศึกษาเอกเทศ. รายงานผลการศึกษานั้นต้องเขียนเป็นเอกสารเสนอต่ออาจารย์ผู้สอน 
              สารนิพนธ์เป็นการประมวลความรู้จากผู้อื่น หรือความรู้ที่ได้ใหม่ หรือเป็นผลการศึกษาเฉพาะ ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของวิชา ผลการศึกษาของสารนิพนธ์อาจนําไปใช้เป็นส่วนหนึ่ง ของวิทยานิพนธ์ก็ได้

            สรุปได้ว่า คำแต่ละคำจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเรียกคำใดคำหนึ่ง สำหรับผมมองว่า ขึ้นอยู่กับสถาบันใดสถาบันหนึ่งจะให้นิยามศัพท์นั้นขึ้น เพื่อเป็นแนวทางเดียวกันและคล้ายคลึงกันกับคำที่กล่าวมาข้างต้น คือ การรวบรวมข้อมูลที่ศึกษามาจัดทำเป็นเอกสาร สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นเอกสารและให้ข้อมูลที่เป็นวิชาการ หลังการจบการศึกษาในปีนั้น


          มาเข้าประเด็นศิลปนิพนธ์กันต่อ ศิลปนิพนธ์ หรือคำเรียกติดปากว่า งานจบ/งานจบการศึกษา ส่วนใหญ่จะทำตอนอยู่ชั้นปีที่ 4 ปีสุดท้ายของการเรียนการสอน สำหรับผู้ที่เรียนทัศนศิลป์ หรือศิลปศึกษา ก็จะต้องลงเรียนวิชานี้ บ้างจะเรียกรายวิชานี้ว่า โครงงานสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ หรืออื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างหลักสูตรแต่ละสถาบัน ที่จะใช้ชื่อเรียกรายวิชานี้ ส่วนการกำหนดน้ำหนักหน่วยกิตนั้นจะมากกว่าวิชาอื่น ๆ คือ มีตั้งแต่ 4-10 หน่วยกิต ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละสถาบัน

          ศิลปนิพนธ์จะเป็นลักษณะของการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เลือกทำงานที่ตนเองมีความถนัดและสนใจเป็นพิเศษ ดังนั้นศิลปนิพนธ์จึงมีโครงการหรือหัวข้อที่หลากหลาย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสค้นคว้าตามแนวทางเสนอแนะจากอาจารย์ผู้ควบคุมวิชา หรือที่ปรึกษาโครงงาน โดยผู้เรียนจะพบอาจารย์ตามเวลาที่กำหนด 
           โดยทั่วไปแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน จะเป็นอาจารย์ในสาขาหลักสูตรนั้นโดยเฉพาะ เพื่อสามารถให้คำแนะนำต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีความเชื่อมั่นต่อผู้เสนอผลงานที่นำเสนอให้บรรลุเป้าหมาย ส่วนใหญ่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานจะได้ข้อมูลความเชื่อมั่นของผู้นำเสนอจากการสังเกตกระบวนการทำงานที่ผ่านมา (จากรายวิชาที่เรียน) คนใดที่เกียจคร้านทำงาน ทำงานไม่สำเร็จ หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ คนนั้นมักจะไม่เป็นที่เชื่อมั่นของอาจารย์เสมอ
#หากนิสิตผู้ใดเข้ามาอ่าน จงหมั่นเพียรทำงานให้สำเร็จลุล่วงสม่ำเสมอ จะได้สร้างความเชื่อมั่นในสายตาของอาจารย์ ในการตัดสินใจทำศิลปนิพนธ์

          สุดท้ายนี้ ศิลปนิพนธ์จะมีคุณค่าและสำเร็จได้ อยู่ที่ความสามารถของตัวเอง ความเชื่อมั่นของตัวเอง ทุกคนมีความแตกต่าง จงเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดี และพร้อมที่จะประจักษ์ความรู้ความสามารถแก่สาธารณะชนได้ชื่นชม และคล้อยตามไปกับงานสร้างสรรค์ที่ทำด้วยความสามารถและความตั้งใจ....


อ้างอิง 

น.อ.หญิง กนกพรรณ รัตนกรี ------. (Online). http://www.admin.navy.mi.th/document/general/LgThai005.pdf, 16 พฤศจิกายน 2562

ความคิดเห็น