บทเรียน หน่วยที่ 1 ความรู้เบื้องต้นทางทัศนศิลป์
ทัศนธาตุในงานทัศนศิลป์
ทัศนธาตุ คือ ส่วนประกอบที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ในสิ่งแวดล้อมและในงานทัศนศิลป์ ซึ่งประกอบไปด้วย จุด เส้น สี รูปร่าง รูปทรง น้ำหนักอ่อน-แก่ พื้นผิว และพื้นที่ว่าง
ทัศนธาตุมีความสำคัญในการสร้างงานทัศนศิลป์ เพื่อถ่ายทอดความคิด จินตนาการ และประสบการณ์ ทั้งนี้การเลือกใช้ทัศนธาตุจึงมีความสำคัญต่อการถ่ายทอดความคิด อารมณ์ ความรู้สึก เพราะทัศนธาตุแต่ละอย่างต่างมีหลักการในการสื่อความหมาย หรือสื่ออารมณ์ความรู้สึกได้
รูปแบบและแนวคิดในงานทัศนศิลป์
รูปแบบในงานทัศนศิลป์ ขึ้นอยู่กับศิลปินในการเลือกใช้ทัศนธาตุ และจัดรูปแบบงานทัศนศิลป์ให้ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจัดได้ 3 รูปแบบ ดังนี้
1) รูปแบบเหมือนจริง (Realistic) เป็นการลอกเลียนรูปร่าง รูปทรง สี บรรยากาศ หรือลักษณะบางอย่างของธรรมชาติ เพื่อสะท้อนความงามหรือความประทับใจของศิลปิน ผู้สร้างงานทัศนศิลป์รูปแบบนี้จำเป็นต้องมีทักษะฝีมือในการสร้างสรรค์ลอกเลียนธรรมชาติตามที่ตามองเห็น
2) รูปแบบตัดทอน (Distortion) เป็นการตัดคุณลักษณะบางอย่างออกจากความเป็นจริง เช่น รูปร่าง รูปทรง สัดส่วน หรือลักษณะบางอย่างให้แปลกแตกต่างไป เพื่อถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์มากกว่าความเป็นจริง
3) รูปแบบตามความรู้สึก (Abstract) เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ผ่านการใช้ สี เส้น รูปร่าง รูปทรง การจัดแสง พื้นผิว หรือพื้นที่ว่างของงาน ที่ศิลปินผ่านการคิด และผ่านกระบวนการสร้างสรรค์งาน ซึ่งออกมาในรูปลักษณ์ที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกมายังผู้ชม หรือเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวศิลปินเองในลักษณะเป็นงานนามธรรม (Abstract) เป็นต้น
แนวคิดในงานทัศนศิลป์
แนวคิดในงานทัศนศิลป์ คือ สิ่งที่มนุษย์ต้องการสื่อสาร หรือถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานทัศนศิลป์ ซึ่งอาจเป็นความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ อารมณ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวต่าง ๆ โดยแนวคิดในงานทัศนศิลป์ ไม่ได้จำกัดแค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่สามารถแสดงออกได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคของศิลปิน
แนวคิดในงานทัศนศิลป์ สามารถสังเกตุได้จาก 1) ความงาม คือ การต้องการสื่อสารถึงความงามของธรรมชาติ มนุษย์ หรือสิ่งของต่าง ๆ 2) ความรู้สึก คือ การต้องการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ หรือประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน 3) เรื่องราว คือ การต้องการเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ หรือตำนานต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและในอดีต 4) แนวคิด คือ การต้องการสื่ออุดมคติทางความคิด ปรัชญา สังคม หรือการเมือง 5) สัญลักษณ์ คือ การใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อสื่อความหมายที่ลึกซึ้ง เป็นต้น
แนวคิดในงานทัศนศิลป์สมารถจัดและแบ่งออกได้เป็น 3 แนวคิดหลัก ดังนี้
1) แนวคิดจากความประทับใจ คือ การสร้างสรรค์งานที่เกิดจากการชื่นชอบ ชื่นชม ในรูปร่าง รูปทรง สี หรือบรรยากาศของธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมที่พบเห็น โดยลอกเลียนลักษณะดังกล่าวเอาไว้
2) แนวคิดจากแรงบันดาลใจ คือ การสร้างสรรค์งานที่เกิดจากการรวมกันของประสบการณ์ จินตนาการ เพื่อให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ลักษณะงานเป็นแนวเหนือความจริง (Surrealism) มีการอ้างถึงสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์จริง หรือเป็นจินตนาการ หรือเป็นงานที่อ้างถึงศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นต้น
3) แนวคิดจากสัญลักษณ์หรือสื่อสิ่งแทน คือ การถ่ายทอดความหมายหรือสัญลักษณ์บางอย่าง เพื่อสื่อให้เข้าใจเฉพาะกลุ่มคน เช่น ความเชื่อ อารมณ์ ความคิด อุดมการณ์ โดยสร้างสรรค์ออกมาเป็นรูปร่าง รูปทรง หรือจัดลักษณะของทัศนธาตุที่หลากหลาย ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าใจ หรือตีความได้นั้น ต้องมีประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจมาก่อน


ตัวอย่าง การอภิปรายงานทัศนศิลป์ โดยใช้ความรู้ทางทัศนธาตุ รูปแบบและแนวคิดในงานทัศนศิลป์ ประกอบการอภิปราย
ชื่อภาพ Girl with Mandolin ปี 1910 วาดโดย Pablo Picasso
จากรูปวาดดังกล่าว จัดเป็นรูปแบบงานแบบตัดทอน เพราะทัศนธาตุที่ปรากฏมีการใช้สีน้อยสี เส้นที่ใช้มีลักษณะเป็นเส้นตรง ประกอบกับการใช้น้ำหนักอ่อน-แก่ ไล่สีให้เห็นเป็นรูปทรง ปรากฏเป็นรูปผู้หญิงเปลือยกายกำลังดีดกีต้า ศิลปินอาจใช้แนวคิดที่มาจากแรงบันดาลใจ เพราะ ศิลปินต้องใช้ประสบการณ์ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ในการถ่ายทอดรูปผู้หญิงผ่านรูปทรงเรขาคณิตดังภาพ
จากรูปวาดดังกล่าว จัดเป็นรูปแบบงานแบบเหมือนจริง เพราะทัศนธาตุที่ปรากฏมีการใช้สี และน้ำหนักอ่อนแก่ที่ตรงกับลักษณะของธรรมชาติ ไล่เป็นแสงเงาให้เห็นเป็นรูปทรงของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายนุ่งผ้าครึ่งตัวที่กำลังเล่นก้านกล้วย ใบกล้วย เป็นบรรยากาศที่ดูสนุกสนาน พื้นหลังมีการปล่อยให้เห็นถึงพื้นที่ว่าง ที่แสดงให้เห็นบรรยากาศของท้องฟ้าที่มืดครึ้ม ศิลปินอาจใช้แนวคิดที่มาจากความประทับใจ เพราะ ศิลปินต้องเลียนแบบลักษณะของธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอดความงามของรูปร่างรูปทรงธรรมชาติไว้ ดังภาพ
ทดสอบความรู้ความเข้าใจโดยเขียนอภิปรายจากรูปภาพที่กำหนดให้
ภาพที่ 1
ชื่อภาพ ครอบครัวนกฮูก วาดโดย ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ
ภาพที่ 2
ชื่อภาพ เทศนาธรรม ณ แดนทิพย์ วาดโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
.......................................................................................................................
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น